กองแพทย์แห่งนี้เกิดขึ้นโดยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 โดยทรงมีพระราชดำริให้มีการดูแลทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพ ในด้านการฟื้นฟู บำบัด และการฝึกหัดอาชีพ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดอาคารด้วยพระองค์เอง เมื่อเวลา 16.00 น. ของวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2513
อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา
ในปีพุทธศักราช 2550 เป็นวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา เพื่อถวายความจงรักภักดี และสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระราชทานแก่ทหารผ่านศึกผู้ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บจนถึงพิการ หรือพิการทุพพลภาพ โรงพยาบาลฯ จึงได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งเป็นอาคารอเนกประสงค์ สูง 12 ชั้น และอาคารจอดรถยนต์สูง 10 ชั้น และขยายจากโรงพยาบาลขนาด 300 เตียง เป็นโรงพยาบาลขนาด 500 เตียง ในวงเงิน 507,000,000 บาท (ห้าร้อยเจ็ดล้านบาทถ้วน) แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2554 โดยได้รับพระราชทานชื่ออาคารว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา” พร้อมทั้งได้รับพระบรมราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554 ประดิษฐานบนอาคารดังกล่าว และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารฯ เมื่อวันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2555 เวลา 10.00 น.
เนื่องจากในปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะทหารผ่านศึกที่บาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกส่งตัวมารับการดูแลต่อที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก โดยบางรายจะต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของแพทย์ไปจนตลอดชีวิต ดังนั้น เพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวของผู้ป่วย รวมทั้งมีอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยได้มาตรฐาน ดังนั้น องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาโรงพยาบาลทหารผ่านศึก เพื่อเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ
อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ประกอบด้วย
โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ได้ให้การสงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก รวมถึงประชาชนทั่วไป มีขีดความสามารถเป็นโรงพยาบาลทั่วไป แต่ได้เน้นหลักทางด้านการฟื้นฟูบำบัดและการฟื้นฟูสมรรถภาพแก่ทหารผ่านศึกเป็นหลัก เพราะโดยหลักการแล้วโรงพยาบาลเพื่อรักษาด้านต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีหลายแห่ง แต่โรงพยาบาลที่จัดสร้างขึ้นเพื่อภารกิจหน้าที่นี้มีเพียงแห่งเดียว ซึ่งโรงพยาบาลทหารผ่านศึกได้ตระหนักถึงภารกิจด้านนี้จึงได้พยายามทุกวิถีทางที่จะผลักดันให้โรงพยาบาลมีขีดความสามารถสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้พิการทุพพลภาพ ซึ่งโรงพยาบาลยึดถือหลักการฟื้นฟูทางด้านร่างกายจะต้องดำเนินควบคู่ไปกับการฟื้นฟูทางด้านจิตใจ ให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ท้อถอย และให้คิดอยู่เสมอว่าถึงจะพิการก็ยังมีประโยชน์และมีคุณค่าต่อสังคมเสมอ