ประวัติความเป็นมาของการฝึกแกะสลักไม้ภาพวิจิตรศิลป์ของทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพ
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2510 รัฐบาลไทยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ปร. ได้ส่งทหารหาญของชาติมีชื่อเรียกว่า “จงอางศึก” กรมอาสาสมัคร (กรม อสส.) ไปทำการสู้รบกับอริราชศัตรู ยังสมรภูมิประเทศเวียดนามใต้ จากการสู้รบส่งผลให้ทหารหาญเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บถึงพิการทุพพลภาพ ทางราชการได้ส่งตัวกลับมาทำการรักษายังประเทศไทย ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2511
ในระหว่างที่พักรักษาตัวอยู่นี้ ความทรงทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นห่วงใยได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยม พวกทหารหาญต่างรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงเป็นห่วงใยในสวัสดิภาพ และในระยะนั้นมีบรรดาท่านผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร ตลอดจนประชาชนชาวไทยได้มาเยี่ยมให้กำลังใจกับบรรดาเหล่าทหารหาญ
วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมอีก มีข้าราชการและทหารหาญที่บาดเจ็บ ทุเลาและหายแล้ว เฝ้ารอรับเสด็จที่สโมสรนายทหาร โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พระราชทานอาหารมื้อเย็นแก่เหล่าทหารหาญเหล่านั้น
ในการเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมทหารครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปรารภกับเจ้ากรมแพทย์ทหารบก ทรงเป็นห่วงใยทหารที่บาดเจ็บถึงพิการทุพพลภาพ ว่าควรมีหน่วยงานในการฟื้นฟูสมรรถภาพ ตลอดจนฝึกอาชีพให้ เจ้ากรมแพทย์รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงแสดงความห่วงใยในสวัสดิภาพของทหาร ภายหลังจากนั้นทางกรมแพทย์ทหารบกได้ร่างโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกและฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยที่เพิ่มกองกายภาพบำบัดขึ้นอีก ตลอกจนขอความร่วมมือจากกรมประชาสงเคราะห์ ในการฝึกอาชีพและจัดหางานให้ เชิญองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเข้าร่วมด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานแนวทางไว้ ดังนี้
1. ควรสนับสนุนในด้านจิตใจให้มีความรู้สึกว่า ความพิการมิได้ทำให้คนไร้ประโยชน์ ถูกเหยียดหยามจากสังคมว่าเป็นคนพิการจนไม่อยากคิดต่อสู้กับชีวิตต่อไป
2. การรักษาพยาบาล เมื่อได้รับการรักษาพยาบาลแล้วให้ได้รับการช่วยเหลือเรื่องอวัยวะจำลองโดยเร็ว เริ่มฝึกฟื้นฟูอวัยวะก่อนที่กล้ามเนื้อและประสาทของส่วนต่างๆ จะเสื่อมสมรรถภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับการรักษา
3. สถานที่พัก ทรงห่วงใยเรื่องที่พักระหว่างรับการฝึกฟื้นฟูสมรรถภาพ การใช้อวัยวะเทียม
4. ระหว่างพักฟื้นฟูสมรรถภาพ จะได้ทราบแนวถนัดสำหรับประกอบอาชีพต่อไป
5. ทรงพระราชทานศูนย์ฝึกอาชีพให้แก่ทหารผ่านศึกพิการฯ
6. ต่างพากันรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงเป็นห่วงเป็นใย แก่สวัสดิภาพทหารได้รับบาดเจ็บถึงพิการฯ จากการสู้รบกับอริราชศัตรู
ศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
การฝึกอาชีพขั้นต้นระยะที่หายจากบาดเจ็บแล้ว เป็นระยะพักและฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย และหัดใช้อวัยวะเทียมกับเครื่องใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ต่อจากกายภาพบำบัด
1. การฝีมือหัตถกรรมต่างๆ
2. การเย็บเสื้อผ้า
3. การช่างไม้
4. การช่างประณีตศิลป์
ก. แกะสลักไม้
ข. ช่างถม ช่างมุก ช่างเงิน
5. ช่างไฟฟ้า วิทยุ
การฝึกอาชีพทหารผ่านศึกพิการฯ ศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลตรีขุนปทุมโรคประหาร เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทานและทำการฝึกสอนแกะสลักไม้ให้ทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพและได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายขวัญแก้ว วัชโรทัย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ในสำนักพระราชวังคอยช่วยเหลือดูแลสนับสนุนในเรื่องวัสดุอุปกรณ์การฝึกตลอดจนทุกข์สุขของทหารผ่านศึกพิการ เหล่าทหารที่ได้รับการฝึกอาชีพรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยและทรงพระกรุณาพระราชทานงานฝึกอาชีพให้กับทหารหาญเหล่านั้น สำหรับเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพต่อไปหลังจากปลดประจำการ
การฝึกแกะสลักไม้วิจิตรศิลป์ของทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพ ที่กองแพทย์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก
วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดอาคารกองแพทย์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (โรงพยาบาลทหารผ่านศึกในปัจจุบัน) ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนวิภาวดีรังสิต (ตอนดินแดง-สุทธิสาร แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ) โดย ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี และคณะพนักงานองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ได้ถวายการรับเสด็จในครั้งนี้ จึงนับได้ว่า การฝึกแกะสลักไม้วิจิตรศิลป์ของทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพได้เริ่มต้นที่กองแพทย์ฯ ในวันนี้ด้วย
องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการฝึกอาชีพและแกะสลักไม้ ซึ่งเป็นงานที่ละเอียดอ่อน ระยะเวลาในการฝึกยาวนานอีกทั้งตัวผู้ที่จะเข้ารับการฝึกจะต้องมีความตั้งใจรับการฝึกอย่างแท้จริง ต้องอดมนใจเย็น และไม่เบื่อหน่ายต่อครูผู้ฝึกสอน ดังนั้น เพื่อให้การฝึกสอนการแกะสลักไม้วิจิตรศิลป์ของกองแพทย์ฯ ดำเนินการต่อเนื่องจากศูนย์ฝึกสอนอาชีพพระราชทาน องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเบิกตัว พล.ต.ขุนปทุมโรคประหาร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มาเป็นผู้ชำนาญการในด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพและการฝึกสอนการแกะสลักไม้วิจิตรศิลป์ให้แก่ทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพที่ได้ปลดพิการทุพพลภาพออกจากประจำการไปแล้วในระยะยาว พล.ต.ขุนปทุมฯ ได้วางแนวการฝึกแกะสลักไม้วิจิตรศิลป์ ให้กับทหารผ่านศึกพิการไว้เป็นขั้นตอนของการฝึกสอน โดยใช้ระยะเวลาในการฝึก 3 ปี
การฝึกแกะสลักไม้วิจิตรศิลป์ของทหารผ่านศึกพิการในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๓๓)
ปัจจุบันการแกะสลักไม้วิจิตรศิลป์ของทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพ อยู่ในการดูแลรับผิดชอบของแผนกกิจกรรมบำบัด กองเวชศาสตร์ฟื้นฟูและออร์โธปิดิคส์ โรงพยาบาลทหารผ่านศึก องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมี ร.อ.พ่วง เพชรสุวรรณ ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกกิจกรรมบำบัดเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบและฝึกสอนงานและการแกะสลักไม้วิจิตรศิลป์สืบต่อจาก พล.ต.ขุนปทุมโรคประหาร และ ร.ท. ไพฑูรย์ ถนัดเดินข่าว ร.น. ทหารผ่านศึกนอกประจำการซึ่งมีความรู้และความชำนาญในงานด้านศิลป์เกี่ยวกับการเขียนลายไทยและการวิจิตรศิลป์ได้อาสาสมัครมาช่วยฝึกสอนงานด้านศิลปะ ให้กับทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพจนกระทั่งมีความรู้ความชำนาญในการแกะสลักไม้ภาพวิจิตรศิลป์และสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ (เช่นการแกะสลักภาพวิจิตรศิลป์บนบานประตูพระอุโบสถ กรอบรูป โต๊ะหมู่บูชา ฯลฯ) เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ได้ทรงปรารภกับเจ้ากรมแพทย์ทหารบกในวโรกาสที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมทหารหาญที่ได้รับบาดเจ็บ ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2511
นอกจากนั้นแล้ว การแกะสลักไม้วิจิตรศิลป์ยังด้เป็นที่สนวใจจากหน่วยราชการต่างๆ ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้พิการทุพพลภาพและประชาชนทั่วไป โดยหน่วยราชการดังกล่าว ได้มีหนังสือขอรับการสนับสนุน ครูฝึกสอนการแกะสลักไม้วิจิตรศิลป์จากองค์กรสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ดังนั้น องค์การฯ จึงได้อนุมัติให้ ร.อ.พ่วง เพชรสุวรรณ ทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพ (ปัจจุบัน ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกกิจกรรมบำบัด) ไปทำหน้าที่เป็นครูสอนการแกะสลักไม้วิจิตรศิลป์ให้กับส่วนราชการ ที่ได้ขอรับการสนับสนุนฯ จากองค์การฯ ดังนี้
1. สถานสงเคราะห์คนพิการและทุพพลภาพพระประแดง กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย
2. ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษบ้านกุดนาขาม กิ่ง อ.เจริญศิลป์ จว.สกลนคร ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ (กรมทหาราบที่ 23 กองทัพภาคที่ 2 เป็นผู้รับสนองงานในโครงการตามพระราชดำริฯ)
แผนกกิจกรรมบำบัดได้ดำเนินงานด้านการแกะสลักไม้วิจิตรศิลป์ ต่อจากศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ตั้งแต่ พ.ศ.2513 – 2533 เป็นเวลานาน 20 ปี แผนกกิจกรรมบำบัดได้ฝึกให้ทหารผ่านศึกพิการทุพพลภาพที่มาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ได้ฝึกฝนด้วยความอุสาหะ อดทน กระทั่งสามารถนำไปประกอบอาชีพได้และบางรายก็นำไปเป็นอาชีพเสริมหรืองานอดิเรกเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เช่น ทหารผ่านศึกพิการฯ ได้แกะสลักไม้องค์พระหลักเมืองจำลองขนาดความสูง 99 ซม. ประดิษฐานอยู่ ณ ศาลพระหลักเมือง สำหรับให้ประชาชนเข้ากราบไหว้เพื่อสักการบูชาจนถึงปัจจุบันและยังแกะสลักพระหลักเมืองจำลององค์เล็กด้วย
ผลที่ได้รับจากการฝึกแกะสลักไม้พอสรุปได้ดังนี้
1. เมื่อเรียนสำเร็จสามารถนำไปประกอบอาชีพได้
2. ทำเป็นอาชีพเสริมหรืองานอดิเรก
3. ทำให้ได้รับความเพลิดเพลิน สบายใจ จนลืมความเหงา ความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมานจากสภาพความพิการ
4. เป็นการฝึกการใช้กล้ามเนื้อทำให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นแข็งแรง
5. เพิ่มรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว
เริ่มด้วย การกำเนิดการฝึกอาชีพทหารพิการคือศูนย์ฝึกอาชีพพระราชทาน พ.ศ.2511
เนื่องมาจากทหารหาญของชาติ มีชื่อเรียกว่า “จงอางศึก” ได้ออกไปทำการสู้รบกับอริราชศัตรูยังสมรภูมิเวียดนาม ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและได้ส่งกลับมาเพื่อทำการรักษายังโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2510 ระหว่างที่ได้พักและรับการรักษาอยู่นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงใยได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยม พวกทหารรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงเป็นห่วงในสวัสดิภาพ และในระยะนั้นก็ได้มีท่านผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดจนประชาชนได้มาเยี่ยมให้กำลังใจเป็นอันมาก วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมอีก และมีข้าราชการและทหารที่บาดเจ็บ ทุเลาและหายแล้ว ไปเฝ้ารอรับเสด็จที่สโมสรนายทหาร โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า พระราชทานอาหารมื้อเย็นแก่เหล่าทหารนั้น
ในการเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมทหารครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรารภกับเจ้ากรมแพทย์ทหารบกถึงทรงเป็นห่วงใยต่อทหารที่บาดเจ็บและพิการทุพพลภาพ ควรมีหน่วยงานในการฟื้นฟูสมรรถภาพตลอดจนการฝึกอาชีพให้ เจ้ากรมแพทย์ทหารบกรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใยในสวัสดิภาพของทหาร ภายหลังนั้นทาง พบ.ทบ. ร่างในโครงการจัดตั้งศูนย์พักฟื้นและฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยเพิ่มกองกายภาพบำบัดขึ้นอีกตลอดจนขอความร่วมมือ จากกรมประชาสงเคราะห์ในการฝึกอาชีพและจัดหางานให้ จะเชิญ อผศ. เข้ามาร่วมด้วย
จากนั้น (ปลายปี พ.ศ.2510) มาจนเกือบกลางปี พ.ศ.2511 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานศูนย์ฝึกอาชีพให้แก่ทหารผ่านศึกพิการ ฝึกอาชีพ ให้พยายามปรับปรุงตนเองจนมีความสามารถเยี่ยงคนอื่นๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคมสืบต่อไป
พระราชทานแนวทางไว้
1. ควรจะสนับสนุนในด้านจิตใจให้มีความรู้สึกว่า ความพิการมิได้ทำให้คนไร้ประโยชน์ ถูกเหยียดหยามจากสังคมว่าเป็นคนพิการจนไม่อยากคิดต่อสู้กับชีวิตต่อไป
2. การรักษาพยาบาล เมื่อได้รับการรักษาพยาบาลแล้วให้ได้รับการช่วยเหลือเรื่องอวัยวะจำลองโดยเร็ว เริ่มฝึกฟื้นฟูอวัยวะก่อนที่กล้ามเนื้อและประสาทของส่วนต่างๆ จะเสื่อมสมรรถภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับการรักษา
3. สถานที่พัก ทรงห่วงใยเรื่องที่พักระหว่างรับการฝึกฟื้นฟูสมรรถภาพ การใช้อวัยวะจำลอง
4. ระหว่างฝึกหัดฟื้นฟูสมรรถภาพ จะได้ทราบแนวถนัดสำหรับประกอบอาชีพต่อไป
5. ทรงพระราชทานศูนย์ฝึกอาชีพให้แก่ทหารผ่านศึกพิการ
ต่างก็พากันรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ได้ทรงเป็นห่วงใยแก่สวัสดิภาพทหารที่ได้รับบาดเจ็บถึงพิการฯ จากการสู้รบกับอริราชศัตรู